ข้อคิด
1. พฤติกรรมของนายประพันธ์เป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบพฤติกรรมของปุถุชนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งความถูกต้องและผิดพลาด เปรียบเสมือนกับมนุษย์ที่สามารถผิดพลาดได้ตลอดเวลา แต่อย่าลืมนำความผิดพลาดนั้นมาใช้ในการแก้ไขตนเอง และปรับทัศนคติที่ผิดอยู่ให้ดีขึ้น จนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป
2. อย่าหลงวัฒนธรรมตะวันตกจนลืมจิตสำนึกแห่งความเป็นไทย ควรเก็บสิ่งที่ดีมาปฏิบัติ แล้วเก็บสิ่งที่ไม่ดีไว้เป็นอุทาหรณ์ ขณะเดียวกันก็อย่าดูถูกบ้านเกิดเมืองนอนว่าหัวโบราณ เก่าคร่ำครึ เพราะวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยนี้แลจึงสามารถจรรโลงประเทศให้อยู่ได้มาสืบทุกวันนี้
3. การแต่งงานของหนุ่มสาวที่มาจากการชอบพอกันแค่เพียงเปลือกนอก ขาดการรู้จักและเข้าใจกันอย่างแท้จริงย่อมไม่ยั่งยืนและอับปางลงอย่างง่ายดาย เช่นกรณีของประพันธ์ และแม่อุไรที่รักเร็วใจเร็ว ทำให้ความรักนั้นจบลงในเวลาอันสั้น
4. การใช้เสรีภาพในทางที่ผิดโดยปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนกระทั่งพลาดพลั้งชิงสุกก่อนห่ามจะต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้าย ดังแม่อุไรที่ปล่อยตัวได้เสียกับประพันธ์ทำให้ไม่เป็นที่พอใจของผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย นำไปสู่การหย่าร้างกันวันข้างหน้า
5. คนเราควรดำเนินชีวิตในทางยุติธรรม ดังเช่นประพันธ์ เขาไม่ชอบการใช้เส้นสาย แต่ไม่สามารถหางานได้ด้วยตนเอง จึงต้องยอมรับงานที่ผู้ใหญ่ฝากฝังให้ แต่ก็ได้ใช้ความสามารถของตนเองทำให้มีความก้าวหน้าในราชการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริบาลบรมศักดิ์ในที่สุด
ประโยชน์
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
มีการเริ่มต้นเรื่องได้อย่างหลงใหลและน่าติดตาม อีกทั้งการดำเนินเรื่องก็ชวนให้ติดตามไปจนจบเรื่อง สำนวนภาษาในการเขียนจดหมายและการเลือกใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ รวมทั้งคำแสลงมากมายสอดคล้องกับลักษณะของประพันธ์ผู้ยังอยู่ในวัยหนุ่มและเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ นอกจากนั้นดดเนื้อความของจดหมายก็เป็นมุมมองหรือทัศนะที่ตรงไปตรงมาเหมือนจดหมายส่วนตัวทั่วๆ ไป กลวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้หัวใจชายหนุ่มมีความสมจริงเป็นอย่างยิ่ง และสามารถสื่อแนวคิดที่ต้องการนำเสนอได้แจ่มแจ้งชัดเจน
คุณค่าด้านเนื้อหา
มีการสร้างตัวละครได้อย่างสมจริง แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของปุถุชนที่มีทั้งสิ่งที่ถูกต้องและผิดพลาด และมีทั้งความสมควรและไม่สมควร โดยมีลักษณะที่สมจริง สมเหตุสมผล โดยประพันธ์ถือเป็นคนที่มีแนวคิดสมัยใหม่ซึ่งบางครั้งตรงกันข้ามกับความเป็นไทยที่เหมาะสม แต่ยังสามารถกลับตัวกลับใจมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ จึงมีความสมบูรณ์ทั้งตัวละคร และเนื้อหาของตัวละครด้วย
คุณค่าด้านสังคม
บทกวีย่อมสะท้อนสภาพสังคมของกวีตามมุมมองของกวี ซึ่งสามารถเข้าถึงสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งแตกต่างกับสังคมยุคปัจจุบันอย่างมาก ทั้งในด้านของการปกครองที่กล่าวไว้ในเรื่องว่า “ท่านว่าขายของได้ดีอย่างไรๆ ก็จะเป็นอะไรไม่ได้ นอกจากขุนนางกรมท่าซ้าย ทั้งกว่าจะได้เป็นหลวงก็อีกหลาย แล้วอาจจะเป็นหลวงตั้งแต่อายุ ๓๐ เมื่ออายุ ๔๕ จึงได้เป็นพระ แล้วก็ยังเป็นพระจนทุกวันนี้ และไม่แลเห็นทางที่จะเป็นพระยาด้วย” แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองในอดีตกับปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งสภาพจิตใจคนในสมัยต่างๆ ก็แตกต่างกันไปด้วย ทางที่ดีหากเราสามารถกระทำความดีได้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตาม ก็ควรหมั่นทำความดีไว้ เพราะแม้ตัวได้วายลง แต่ความดีมิได้วายตามไปด้วยอย่างแน่นอน